วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

การเตรียมพร้อมก่อนการพิมพ์งาน

การเตรียมพร้อมก่อนการพิมพ์งาน

        เทคนิคการพิมพ์และท่านั่งที่ถูกต้อง  ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องใช้สอยต่าง ๆ  ที่เหมาะสม  จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้  ฉะนั้นท่านั่งที่ถูกต้องในขณะพิมพ์งานบนแป้นพิมพ์  ซึ่งหมายถึง   การปรับ  การจัดเก้าอี้และโต๊ะคอมพิวเตอร์ให้มีความสูงที่เหมาะสม
        1. ท่านั่ง  การนั่งที่ถูกวิธีในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน  การนั่งควรนั่งตัวตรง  หลังตรง  เอนไปข้างหน้าเล็กน้อย  โดยใช้ลำตัวห่างจากขอบโต๊ะคอมพิวเตอร์ประมาณ  4-5 นิ้ว พยายามนั่งให้ลำตัวอยู่กึ่งกลางของแป้นพิมพ์ตรงตำแหน่ง  อักษรตัว “j”  การนั่งในระยะเวลานาน ๆ อาจขัดขวางการหมุนเวียนของเลือด ทำให้เกิดอาการเหน็บชาที่ขาขึ้นมาได้  ดังนั้นพยายามรักษาระดับของหัวเข่า  โดยให้ตั้งฉากที่  90  องศา  จะปปปส
ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปอย่างถูกหลักการ
          2.  การวางมือ  ให้โค้งนิ้วมือเล็กน้อย  โดยให้ปลายนิ้วงุ้ม  และวางนิ้วให้สัมผัสหรือแตะเบาๆ  บนแป้นเหย้า  (แป้นอักษรที่ใช้ในการพิมพ์เป็นหลัก  ซึ่งก็คืออักษร  ฟ ห ก ด่า ส ว) วางข้อมือต่ำขนานกับแป้นพิมพ์ให้เป็นเส้นตรงกับช่วงแขน  ข้อศอกแนบลำตัว  ตั้งข้อศอกทำมุม 90 องศาจากลำตัว  ถ้างอข้อศอกมากเกินไปอาจมีผลทำให้การวางนิ้วบนแป้นพิมพ์ผิดตำแหน่งหรือวางไม่ถูกต้อง  ซึ่งจะมีผลต่อการพิมพ์คือ  พิมพ์ผิดตามไปด้วย  ถ้าแขนงอสูงเกินไป อาจเป็นเพราะโต๊ะสูงเกินไป ควรปรับเปลี่ยนความสูงของเก้าอี้  เพื่อให้เหมาะสมกับความสูงของโต๊ะ  ซึ่งความสูงที่ดีของโต๊ะคือประมาณ  28-30  นิ้ว
          3.  การวางเท้าและลักษณะของโต๊ะคอมพิวเตอร์  เท้าทั้งสองข้างควรวางราบกับพื้น  โดยให้เท้าใดเท้าหนึ่งวางเหลื่อมล้ำกันเล็กน้อย  เพื่อช่วยในการทรงตัวที่ดี  ถ้าวางเท้าขนานกับพื้นหรือวางเท้าชิดกันอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ง่าย
        ลักษณะของเก้าอี้ควรเป็นเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงต่ำของเบาะนั่งได้  และต้องมีพนักพิงที่แข็งแรงและต้องปรับพนักพิงหลังให้อยู่ในแนวตรง  นอกจากนี้ต้องไม่มีที่วางแขน เพราะจะทำให้เกะกะต่อการเคลื่อนไหวของแขนทำให้พิมพ์ไม่ถนัด
          4. ตำแหน่งของศีรษะ
           ศีรษะควรตั้งตรงและหันไปทางขวาเล็กน้อยเพื่อมองแบบฝึกพิมพ์หรือต้นฉบับ  โดยให้สายตาอยู่ระดับเดียวกับส่วนบนสุดของจอภาพ  และพยายามรักษาระยะห่างของสายตา  กับจอภาพประมาณ  20-30  นิ้ว

          ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ฝึกพิมพ์ใหม่
          1.  ขาดความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
           ในการฝึกพิมพ์ใหม่ ๆ  ผู้ฝึกพิมพ์จะไม่มีความรู้เรื่องแป้นอักษรต่าง ๆ เลยว่าตัวอักษร  ตัวเลข  และตัวอักขรพิเศษอะไร  อยู่ที่ไหน  ใช้ประโยชน์อย่างไร  ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายจนไม่มีความสนใจในการพิมพ์  เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งในการพิมพ์
          2.  เกิดความรู้สึกกลัวและเกร็ง
           จากปัญหาในข้อ 1 อาจส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ฝึกพิมพ์  กล่าวคือเมื่อผู้ฝึกพิมพ์รู้สึกว่าหาแป้นอักษรไม่เจอก็เริ่มลนลานกลัวว่าจะพิมพ์ไม่ทันบ้าง  กลัวว่าครูผู้สอนจะว่าบ้าง  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการเกร็งและรู้สึกกลัว  และในที่สุดทำให้ไม่อยากพิมพ์
          3.  ไม่มีสมาธิในการพิมพ์
           เนื่องจากการฝึกพิมพ์ใหม่ ๆ  ผู้ฝึกพิมพ์อาจจะยังจัดระบบประสาทสัมผัสในการพิมพ์ไม่ได้  เช่น  ประสาทตาต้องมองที่เอกสาร  มือวางที่แป้นเหย้า  ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่สัมพันธ์กัน  และกลัวว่าจะพิมพ์ผิดจึงมองไปที่แป้นเหย้าไปพร้อมๆ  กับเอกสารที่จะพิมพ์  ทำให้เริ่มเสียสมาธิและทำให้ปวดต้นคอได้ง่าย
          4.  ปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการเกร็งมากเกินไป
           สำหรับข้อนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากหลาย ๆ ข้อ  ที่ผ่านมากล่าวคือ  ถ้าผู้เรียนไม่มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับท่านั่งและการวางมือ  ตลอดจนหลักการพื้นฐานที่จำเป็นจะทำให้รู้สึกกังวล  เกร็ง  ประสาทสัมผัสทำงานไม่สัมพันธ์กัน  มีผลทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อ  จนทำให้ปวดเมื่อยและอ่อนล้าในที่สุด
          เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
1.  ควรหยุดพักเป็นเวลา  5-10  นาทีทุกๆ  ชั่วโมง
2.  ตรวจสอบแสงสว่างในห้องทำงาน  ให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ
3.  พักสายตาทุกๆ  15  นาที